รถแลกเงิน: จะรู้ได้ยังไงว่า...หนี้ที่เรามีอยู่นั้น เป็น "หนี้ดี" หรือ "หนี้ไม่ดี""หนี้" ไม่ใช่เรื่องแย่ หรือดูร้ายแรงทั้งหมด แต่ "หนี้" ก็ยังมีมุมของความดีอยู่เหมือนกัน แค่เราทำความรู้จัก และเข้าใจการเป็นหนี้ให้ถูกวิธี ความดีของหนี้ก็จะทำให้เราเป็นเศรษฐีได้ ดังนั้น เรามาดูกันว่า จะรู้ได้ยังไงว่าหนี้ที่เรามีอยู่นั้นเป็นหนี้ดี หรือหนี้ไม่ดี ที่นี่มีคำตอบ...โดยเราจะแยกตามวัตถุประสงค์ของการก่อหนี้ และผลลัพธ์ที่เกิดจากการก่อหนี้ นะคะ
"หนี้ดี" หรือ "หนี้ไม่ดี"
คำตอบง่ายๆ หมั่นท่องจำไว้ว่า...สิ่งที่จะเรียกว่าเป็น "หนี้ดี" ได้นั้น จะต้องทำให้เรามั่งคั่งขึ้น คือ มีรายได้หรือทรัพย์สินเพิ่มขึ้น และที่สำคัญต้องไม่กระทบต่อสภาพคล่องในการดำรงชีวิตประจำวัน แต่ถ้าไม่มีเรื่องความมั่งคั่งหรือสภาพคล่องข้อใดข้อหนึ่งไปจะถือว่าหนี้นั้นเป็น "หนี้ไม่ดี" ทันที
ตัวอย่างเช่น นายเอกกู้เงินซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัย 1 หลัง แม้ว่านายเอกจะต้องจ่ายค่าผ่อนบ้านเป็นประจำทุกเดือน แต่นายเอกก็มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นจากการค่อยๆ สะสมความเป็นเจ้าของ (เงินต้นที่ไปหักหนี้ออกทุกเดือน) รวมไปถึงมูลค่าบ้าน และที่ดินที่สูงขึ้นตามเวลา อย่างนี้ถือว่าการซื้อบ้านสามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับนายเอกได้
คำถามต่อมาจึงอยู่ที่ว่า...จำนวนเงินผ่อนรายเดือน ทำให้นายเอกมีปัญหาสภาพคล่องหรือไม่? ถ้าซื้อบ้านแล้วไม่มีปัญหาสภาพคล่อง ก็จะถือว่าบ้านหลังนี้เป็นหนี้ดี แต่ถ้าผ่อนบ้านแล้วทำให้เงินไม่พอใช้ อย่างนี้ก็ถือว่าเป็น "หนี้ไม่ดี"
หรือหาก น.ส.บีม กู้เงินมาเรียนต่อปริญญาโท ด้วยเหตุที่ว่าการศึกษาต่อทำให้คนเรามีวิชาความรู้เพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มที่จะทำให้มั่งคั่งได้ในอนาคต ดังนั้น การจะพิจารณาว่าการกู้ยืมเพื่อการศึกษาสร้างหนี้ดีหรือไม่ดีนั้น ก็ให้ดูที่ความสามารถในการผ่อนชำระคืนเช่นกัน
ในส่วนของการกู้เงินซื้อรถยนต์ หากพิจารณาจากเกณฑ์ความมั่งคั่งจะพบว่า การซื้อรถยนต์นั้นจัดเป็นหนี้ไม่ดีทันที เพราะภายหลังจากเราถอยรถออกจากโชว์รูมหรือเต้นท์ ไม่มีทางเลยที่มูลค่ารถยนต์ของเราจะเพิ่มขึ้น มีแต่จะเสื่อมลงเรื่อยๆ
แต่สำหรับกรณีของรถยนต์นั้น อาจต้องพิจารณาให้ลึกซึ้งขึ้นอีกนิด เพราะแม้ว่ามูลค่าของรถจะไม่มีทางเพิ่มขึ้น แต่หากการซื้อรถทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของเราลดลง (ค่าใช้จ่ายในการผ่อนชำระ ค่าน้ำมัน และค่าดูแลรักษา น้อยกว่าค่าเดินทางที่ต้องจ่ายอยู่เดิม) หรือหากการมีรถยนต์ทำให้เราสามารถรับงานพิเศษที่สร้างรายได้ให้มากขึ้นได้ เพียงพอที่จะจัดการกับค่าใช้จ่าย และทำให้มีเงินเหลือออมมากขึ้น อย่างนี้การซื้อรถยนต์ก็สามารถสร้างความมั่งคั่งให้เราได้เช่นกัน
จะเห็นว่าแนวคิดเรื่อง "หนี้ดี" และ "หนี้ไม่ดี" ค่อนข้างต้องอาศัยการไตร่ตรองที่ลึกซึ้งมากกว่าที่จะใช้เกณฑ์ใดๆ ตัดสินตายตัว เพราะท้ายที่สุดแล้ว... เชื่อว่าคงไม่มีคำตอบที่ถูกต้องที่สุดสำหรับปัญหาทางการเงิน มีเพียงคำตอบที่เฉพาะเจาะจงสำหรับแต่ละบุคคลเท่านั้น สำคัญที่สุดก็คือ เราต้องสามารถพินิจพิเคราะห์โจทย์ปัญหาทางการเงินของเราได้เอง และแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ นั่นต่างหากคือหนทางที่จะทำให้เราอยู่รอดปลอดภัยจากปัญหาทางการเงินได้
ทางที่ดี... ถ้ายังไม่เป็นหนี้ ก็อย่าพยายามสร้างหนี้ แต่เมื่อหลวมตัวเป็นหนี้ไปแล้ว ก็พยายามควบคุมหนี้ทุกประเภทอย่าให้เกิน 50% ของรายได้ อย่าลืมว่าในแต่ละเดือนคุณยังต้องกินต้องใช้ หากสร้างหนี้กองพะเนินเอาไว้ แล้วคุณจะเอาเงินที่ไหนใช้จ่ายเพื่อดำรงชีวิต
โดยสรุป "การมีหนี้" ไม่ใช่ปัญหาหรืออุปสรรคที่ทำให้คนเราไม่ร่ำรวย เพราะในโลกนี้มีทั้งหนี้ที่สร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับสุขภาพทางการเงิน (หนี้ดี) และหนี้ที่ไม่สร้างสรรค์ แถมบั่นทอนสุขภาพทางการเงิน (หนี้ไม่ดี) แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า... เราเลือกสร้างหนี้ประเภทไหนให้กับชีวิตของเราต่างหาก