หมอออนไลน์: Metoclopramide (เมโทโคลพราไมด์)Metoclopramide (เมโทโคลพราไมด์) เป็นยาบำบัดอาการคลื่นไส้อาเจียน ช่วยเพิ่มการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งจะช่วยให้อาหารที่ตกค้างอยู่ในกระเพาะเคลื่อนไปสู่ลำไส้ได้เร็วยิ่งขึ้น ใช้รักษาอาการแสบร้อนกลางอกอันเกิดจากกรดไหลย้อน และรักษาภาวะกระเพาะอาหารบีบตัวช้าในผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน จุกแน่น แสบร้อนกลางอกหลังรับประทานอาหาร รวมทั้งรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยมะเร็งที่รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดและการฉายรังสี หรืออาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ตามดุลยพินิจของแพทย์
ยา Metoclopramide มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ
เกี่ยวกับยา Metoclopramide
กลุ่มยา ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียน และภาวะกรดไหลย้อน
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ
รูปแบบของยา ยาฉีด ยารับประทาน
คำเตือนในการใช้ยา Metoclopramide
แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาที่กำลังใช้อยู่ทุกชนิด ทั้งยาที่แพทย์สั่งหรือยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะยาพาราเซตามอลยาไดจอกซิน ยาไซโคลสปอริน ยาไกลโคไพโรเลต อินซูลิน วิตามิน และสมุนไพรอื่น ๆ เพราะมียาหลายชนิดที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้
ห้ามใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่าที่กำหนดหรือนานเกินกว่า 12 สัปดาห์ เพราะอาจทำให้การเคลื่อนไหวร่างกายผิดปกติ และไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อร่างกายได้ เช่น บริเวณลิ้น ริมฝีปาก ตา ใบหน้า แขนหรือขา โดยจะมีความเสี่ยงสูงในกลุ่มผู้ป่วยเพศหญิง ผู้ป่วยเบาหวาน และผู้สูงอายุ
ไม่ควรใช้ยาในผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ หรือมีประวัติเลือดออก มีรูหรือมีการอุดกั้นของกระเพาะอาหารและลำไส้ โรคลมชัก อาการชัก รวมไปถึงเนื้องอกในต่อมหมวกไต
แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากเป็นโรคไต โรคตับ ภาวะหัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคพาร์กินสัน มะเร็งเต้านม หรือมีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า
แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ หากต้องเข้ารับการผ่าตัดใด ๆ
ผู้ที่ตั้งครรภ์ วางแผนมีบุตร หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของยาก่อนใช้ยานี้
ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างที่ใช้ยา เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา
ห้ามขับรถหรือทำงานใช้เครื่องจักรที่อาจก่อให้เกิดอันตราย จนกว่าจะแน่ใจว่ายานี้ไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียง เพราะยา Metoclopramide อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึมได้
ปริมาณการใช้ยา Metoclopramide
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้
รักษาภาวะกระเพาะอาหารบีบตัวช้าในผู้ป่วยเบาหวาน
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 10 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 2-8 สัปดาห์ หรือฉีดยาปริมาณ 10 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง โดยฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อหรือทางหลอดเลือดดำช้า ๆ 1-2 นาที โดยให้ยาติดต่อกันไม่เกิน 10 วัน และเปลี่ยนเป็นยารับประทานเมื่ออาการดีขึ้น
ป้องกันอาการคลื่นไส้และอาเจียนหลังการผ่าตัด
ผู้ใหญ่ ฉีดยาปริมาณ 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อหรือทางหลอดเลือดดำ ให้ยาเข้าสู่ร่างกายช้า ๆ อย่างน้อย 3 นาที
เด็ก
อายุ 1-3 ปี หรือน้ำหนัก 10-14 กิโลกรัม ฉีดยาปริมาณ 1 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง โดยใช้ยาเป็นเวลาสูงสุดไม่เกิน 48 ชั่วโมง
อายุมากกว่า 3-5 ปี หรือน้ำหนัก 15-19 กิโลกรัม ฉีดยาปริมาณ 2 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง โดยใช้ยาเป็นเวลาสูงสุดไม่เกิน 48 ชั่วโมง
อายุมากกว่า 5-9 ปี หรือน้ำหนัก 20-29 กิโลกรัม ฉีดยาปริมาณ 2.5 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง โดยใช้ยาเป็นเวลาสูงสุดไม่เกิน 48 ชั่วโมง
อายุมากกว่า 9-18 ปี หรือน้ำหนัก 30-60 กิโลกรัม ฉีดยาปริมาณ 5 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง โดยใช้ยาเป็นเวลาสูงสุดไม่เกิน 48 ชั่วโมง
รักษาอาการคลื่นไส้และอาเจียนที่เกิดจากยาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสี
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 10 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ใช้ยาเป็นเวลาสูงสุดไม่เกิน 5 วัน
ป้องกันอาการคลื่นไส้และอาเจียนที่เกิดจากยาเคมีบำบัด
ผู้ใหญ่
สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดระดับรุนแรงมาก ฉีดยาปริมาณเริ่มต้น 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม โดยฉีดให้ยาเข้าสู่ร่างกายช้า ๆ อย่างน้อย 15 หรือ 30 นาที ก่อนรักษาด้วยเคมีบำบัด และให้ยาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง จำนวน 2 ครั้ง จากนั้นให้ยาทุก 3 ชั่วโมง จำนวน 3 ครั้ง
สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดระดับรุนแรงน้อย ฉีดยาปริมาณ 1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม โดยใช้ยาเป็นเวลาสูงสุดไม่เกิน 5 วัน
โรคกรดไหลย้อน
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 10-15 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง หรือตามความรุนแรงของอาการ หากอาการเป็น ๆ หาย ๆ อาจรับประทานยาปริมาณ 20 มิลลิกรัม วันละครั้ง โดยใช้ยาเป็นเวลาสูงสุดไม่เกิน 12 สัปดาห์
ผู้สูงอายุ รับประทานยาปริมาณ 5 มิลลิกรัม
การใส่ท่อในลำไส้เล็ก และการให้ยาก่อนตรวจทางรังสีวิทยาในระบบทางเดินอาหารส่วนบน
ผู้ใหญ่ ฉีดยาปริมาณ 10 มิลลิกรัม 1 ครั้ง โดยฉีดเป็นระยะเวลา 1-2 นาที
เด็ก อายุน้อยกว่า 6 ปี ฉีดยาปริมาณ 0.1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม 1 ครั้ง
เด็กอายุ 6-14 ปี ฉีดยาปริมาณ 2.5-5 มิลลิกรัม 1 ครั้ง
การใช้ยา Metoclopramide
ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
โดยทั่วไปจะใช้ยา Metoclopramide ก่อนอาหาร 30 นาที ตอนท้องว่าง และก่อนนอน หรือตามคำแนะนำของแพทย์
การใช้ยา Metoclopramide ชนิดยาเม็ดละลายในปาก ควรเก็บยาไว้ในแผงหรือขวดยาจนกว่าจะนำยามาใช้ และควรให้มือแห้งก่อนหยิบยา หากยาแตกหักหรือละลายในมือ ให้ทิ้งยาแล้วเปลี่ยนเป็นเม็ดใหม่ แล้วนำยาวางไว้ที่ลิ้นปล่อยให้ยาละลาย โดยห้ามเคี้ยวหรือกลืนยาทั้งเม็ด เมื่อยาละลายให้กลืนยาโดยไม่ต้องดื่มน้ำ
หากใช้ยา Metoclopramide ชนิดยาน้ำ ให้วัดปริมาณยาด้วยถ้วยหรือช้อนยาโดยเฉพาะ หากไม่มีช้อนยาควรสอบถามกับเภสัชกร
ห้ามรับประทานยา Metoclopramide ในรูปแบบแตกต่างกันพร้อมกัน
หลังใช้ยา Metoclopramide ผู้ป่วยอาจมีอาการถอนยา เช่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หรือรู้สึกตื่นกลัว ซึ่งผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการรับมือกับอาการดังกล่าว
หากลืมใช้ยาตามเวลาที่กำหนด ให้ใช้ยาได้ทันที แต่หากใกล้ถึงเวลาใช้ยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไป และไม่เพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้พ้นจากแสงแดด ความชื้น และความร้อน โดยปิดขวดยาให้แน่นสนิทเมื่อไม่ได้ใช้ยา
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Metoclopramide
หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา Metoclopramide ดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที
อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม หรือคอบวม
เคลื่อนไหวร่างกายผิดปกติอย่างรุนแรง อาจเกิดขึ้นภายใน 2 วันหลังเริ่มใช้ยา ได้แก่ มือหรือขาสั่น กล้ามเนื้อใบหน้ามีการเคลื่อนไหวอย่างควบคุมไม่ได้ เช่น เคี้ยวปาก ขมวดคิ้ว กะพริบตา หรือขยับตา เป็นต้น
มีความรู้สึกเหมือนกำลังใส่หน้ากาก
กล้ามเนื้อกระตุก กล้ามเนื้อแข็งเกร็งมาก เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อได้ช้า หรือมีปัญหาในการเดินและการทรงตัว
มีไข้สูง เหงื่อออกมาก สับสน หัวใจเต้นผิดจังหวะ สั่น หรือรู้สึกคล้ายจะหมดสติ
ซึมเศร้า มีความคิดฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายตนเอง
หลอน วิตกกังวล หงุดหงิด กระวนกระวาย อยู่นิ่ง ๆ ไม่ได้
หายใจไม่อิ่ม มีอาการบวม และน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ดีซ่าน
ชัก
ส่วนผลข้างเคียงที่พบได้น้อย ได้แก่ กระสับกระส่าย ง่วงซึม เหนื่อย เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เต้านมมีอาการกดเจ็บหรือบวม ประจำเดือนมาไม่ปกติ ปัสสาวะมากกว่าปกติ ทั้งนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน