โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)ความดันสูงหรือโรคความดันโลหิตสูง (Hypertension, High Blood Pressure) เป็นภาวะความดันเลือดภายในหลอดเลือดแดงสูงกว่าปกติตลอดเวลา หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงจนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
สถานการณ์ของโรคความดันสูงทั่วโลกมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น สถิติจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าผู้ที่อายุระหว่าง 30–79 ปีเกือบ 1.3 พันล้านคนทั่วโลกเป็นโรคความดันโลหิตสูง และเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยนำไปสู่การเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง และโรคตับ
ด้วยเหตุนี้ทำให้สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension League) และสมาคมโรคความดันโลหิตสูงนานาชาติ (International Society of Hypertension) ได้กําหนดให้วันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันความดันโลหิตสูงโลก เพื่อให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงความร้ายแรงของโรคนี้มากขึ้น
สำหรับในประเทศไทย อ้างอิงจากผลสำรวจสุขภาพประชากรไทยจากการตรวจร่างกายครั้งที่ 6 ปี 2562–2563 ของกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทยมีผู้ป่วยความดันโลหิตสูงกว่า 14 ล้านคน และจำนวนนี้มีผู้ป่วยกว่า 7 ล้านคนที่ไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคความดันโลหิตสูง
อาการของโรคความดันสูง
โรคความดันสูงส่วนใหญ่ไม่ค่อยแสดงอาการผิดปกติ ยกเว้นผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันสูงเป็นเวลานานและไม่ได้รับการรักษา อาจมีอาการปวดศีรษะ หายใจลำบาก และเลือดกำเดาไหล ซึ่งอาการเหล่านี้ยังถือว่าเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง
แต่บางรายอาจทราบเมื่อตรวจพบภาวะแทรกซ้อนจากโรคความดันสูงแล้ว ทำให้โรคนี้ถูกเรียกว่าเป็นฆาตกรเงียบ (Silent Killer) ที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างไม่ทันระวังตัว
สาเหตุของโรคความดันสูง
โรคความดันสูงแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ชนิดไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด (Primary/Essential hypertension) ที่ไม่สามารถระบุต้นเหตุของการเกิดโรคได้ และชนิดทราบสาเหตุ (Secondary hypertension) ที่อาจเกิดได้จากหลายสภาวะ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคไต ปัญหาต่อมไทรอยด์ เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต หลอดเลือดผิดปกติแต่กำเนิด การใช้ยาบางชนิด สารเสพติด หรือแอลกอฮอล์
การวินิจฉัยโรคความดันสูง
แพทย์จะวินิจฉัยโรคความดันสูงโดยดูจากการวัดค่าความดันโลหิตของผู้ป่วยเป็นหลัก และมีการตรวจวัดหลายครั้ง เพื่อความแม่นยำของผลการตรวจ ซึ่งค่าความดันโลหิตที่วัดได้จะแบ่งออกเป็น 2 ค่า
โดยตัวแรก (หรือตัวบน) เรียกว่าค่าความดันซิสโตลิก (Systolic) เป็นความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงขณะที่หัวใจบีบตัว และตัวที่สอง (หรือตัวล่าง) เรียกว่าค่าความดันไดแอสโทลิก (Diastolic) เป็นค่าความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงขณะหัวใจคลายตัว
เมื่อวัดความดันโลหิตในสถานพยาบาล หากค่าความดันตัวบนได้มากกว่าหรือเท่ากับ 140 มิลลิเมตรปรอท และความดันตัวล่างได้มากกว่าหรือเท่ากับ 90 มิลลิเมตรปรอท จะถือว่ามีความดันโลหิตสูง หรือถ้าวัดระดับความดันโลหิตด้วยเครื่องชนิดพกพาที่บ้าน ค่าจะต่ำกว่าสถานพยาบาลประมาณ 5 มิลลิเมตรปรอท หากค่าความดันตัวบนสูงกว่า 135 มิลลิเมตรปรอท และ/หรือ ความดันตัวล่างสูงกว่า 85 มิลลิเมตรปรอท จะถือว่ามีความดันโลหิตสูง
ภาวะแทรกซ้อนของโรคความดันสูง
การปล่อยให้เกิดโรคความดันสูงเป็นระยะเวลานานและดูแลสุขภาพไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา ซึ่งมีสาเหตุมาจากทั้งโรคความดันสูงโดยตรงหรือโรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรง
โดยมากจะพบโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดแดง โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสมองในด้านความจำ มีปัญหาทางด้านสายตา โรคไต หรือก่อให้เกิดความเสียหายจนถึงขั้นเสียชีวิต
การรักษาโรคความดันสูง
แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในด้านการรับประทานอาหารเบื้องต้น โดยลดอาหารที่มีโซเดียมสูง เน้นรับประทานผักและผลไม้ที่มีกากใยสูง ธัญพืช ปลาที่อุดมไปด้วยกรดไขมันที่ดีต่อร่างกาย หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อแดง ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและการใช้ยาร่วมด้วย เพื่อช่วยปรับค่าความดันโลหิตให้ลดลงอยู่ในระดับปกติ
การป้องกันโรคความดันสูง
การควบคุมความดันโลหิตในระยะยาวทำได้โดยการปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ทั้งในเรื่องของการรับประทานอาหาร ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเป็นพื้นฐาน รวมถึงหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำเพื่อตรวจดูว่าความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ