ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: สิ่งแปลกปลอมเข้าหู (Foreign body in ear canal) สิ่งแปลกปลอมเข้าหู เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก ส่วนใหญ่ไม่มีอันตราย ส่วนน้อยอาจทำให้หูอักเสบจากการติดเชื้อ
สิ่งแปลกปลอมมักเป็นวัตถุขนาดเล็ก เช่น เมล็ดผลไม้ เมล็ดถั่ว ลูกปัด เศษก้อนยางลบ เศษกระดาษ เศษไม้ เศษอาหาร ชิ้นส่วนของเล่นขนาดเล็ก ถ่านกระดุม (button battery) เป็นต้น มักพบในเด็กเล็กที่ชอบเล่นซนหรืออยากลองอยากรู้ นำวัตถุไปแหย่ใส่เข้าไปติดอยู่ในรูหู ส่วนในผู้ใหญ่อาจเกิดจากการชอบแคะหูหรือปั่นหู แล้วมีเศษสำลีหรือกระดาษทิชชูติดอยู่ในรูหู
บางครั้งอาจเกิดจากเหตุบังเอิญที่มีแมลงขนาดเล็ก (เช่น ลูกแมลงสาบ ยุง มด หมัด เห็บ) บินหรือไต่เข้าไปอยู่ในหู ซึ่งอาจพบได้ในคนทุกวัย การนอนบนพื้น หรือนอนอยู่บริเวณนอกบ้านหรือกลางป่า หรือการอุ้มสัตว์เลี้ยงพาดบ่า มีความเสี่ยงต่อการมีแมลงไต่เข้าหู
สาเหตุ
มักเกิดจากการเอาสิ่งแปลกปลอมแหย่ใส่เข้าไปในหู หรือมีแมลงบินหรือไต่เข้าหู
อาการ
อาการขึ้นกับชนิดและขนาดของสิ่งแปลกปลอม
ถ้าเป็นแมลงเข้าหู อาจมีความรู้สึกว่ามีแมลงดิ้นไปมา หรือมีเสียงดังหึ่ง ๆ อยู่ในหูน่ารำคาญ หรือมีอาการปวดเจ็บในหู
ถ้าเป็นวัตถุแปลกปลอมเข้าหู อาจรู้สึกมีอะไรกลิ้งไปมาในรูหู หรือมีเสียงดังขลุกขลักเวลาเคี้ยวอาหารหรืออ้าปาก-หุบปาก บางครั้งอาจไม่มีอาการอะไรและปล่อยไว้ไม่ได้แก้ไข ก็อาจเกิดอาการปวดเจ็บในหู หูอื้อ มีน้ำหนองไหล (เนื่องจากหูอักเสบ) ตามมา
ถ้าเป็นวัตถุชิ้นโตที่อุดแน่นรูหู ทำให้มีอาการปวดหู หูอื้อ หูตึง การได้ยินลดลง
บางครั้งอาจพบว่ามีเลือดออกจากหู เนื่องจากเป็นสิ่งแปลกปลอมที่มีความแหลมคม หรือเนื่องเพราะมีความพยายามใช้อุปกรณ์เขี่ยเอาสิ่งแปลกปลอมออกเองจนเกิดแผลถลอก
นอกจากนี้ บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ไอหรือกระแอมร่วมด้วย ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่ถูกกระตุ้นให้เกิดขึ้นจากการมีสิ่งแปลกปลอมไประคายเคืองต่อช่องหู
ภาวะแทรกซ้อน
ส่วนใหญ่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใด เมื่อเอาสิ่งแปลกปลอมออกก็จะหายเป็นปกติ
แต่ถ้าปล่อยให้สิ่งแปลกปลอมติดอยู่ในรูหูเป็นเวลานาน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเศษพืช หรือเศษอาหาร) อาจเกิดการติดเชื้อ ทำให้หูชั้นนอกอักเสบ มีอาการไข้ ปวดหู หูอื้อ การได้ยินลดลง มีน้ำหนองไหล
บางรายอาจทำให้เกิดแก้วหูทะลุ
สำหรับสิ่งแปลกปลอมที่เป็นถ่านกระดุม (button battery ซึ่งใช้กับของเล่นและอุปกรณ์ต่าง ๆ) หากปล่อยไว้ สารเคมีภายในถ่านอาจรั่วไหลออกมา ทำให้ผิวหนังในช่องหูไหม้ เยื่อแก้วหูทะลุ เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน รวมทั้งอาจทำลายอวัยวะต่าง ๆ ภายในหูชั้นกลาง ทำให้หูหนวกได้ อันตรายจากถ่านกระดุมนี้มักเกิดขึ้นในเวลาประมาณ 3-6 ชั่วโมง (พบว่าเร็วสุด อาจเกิดขึ้นหลังเกิดเหตุเพียง 1-2 ชั่วโมง)
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย
ที่สำคัญคือ การใช้เครื่องส่องหู (otoscope) ตรวจพบสิ่งแปลกปลอมอยู่ในรูหู
ในรายที่สงสัยว่ามีถ่านกระดุม (button battery) เข้าหู แพทย์จะทำการตรวจด้วยการเอกซเรย์
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ถ้าเป็นแมลงเข้าหู ให้ผู้ป่วยเอียงหูข้างที่มีแมลงตั้งขึ้นด้านบน แล้วดึงใบหูไปด้านหลังเพื่อให้รูหูอยู่ในแนวตรง แล้วใช้น้ำมันพืช (เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะกอก) น้ำมันทาตัวเด็ก (เบบี้ออยล์) ยาหยอดหู หรือน้ำยากลีเซอรีนโบแรกซ์ ค่อย ๆ หยอดใส่ลงไปในรูหูจนเต็ม รอจนเห็นแมลงไต่หรือลอยขึ้นมา แล้วทำการเขี่ยหรือคีบออก
ถ้าไม่เห็นแมลงไต่หรือลอยขึ้นมา ก็จะให้เอียงหูข้างนั้นลงมาด้านล่าง ให้ของเหลวที่หยอดนั้นไหลออกมา โดยใช้ผ้า กระดาษ หรือภาชนะรอง ดูว่ามีแมลงหลุดออกมาหรือไม่
2. ถ้าเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เป็นวัตถุ ให้เอียงหูข้างที่มีปัญหาไปทางด้านล่าง (หันลงไปทางพื้น) และดึงใบหูไปด้านหลังเพื่อให้รูหูอยู่ในแนวตรง เขย่าศีรษะเบา ๆ ถ้าเป็นสิ่งเล็ก ๆ อาจหลุดออกมาได้
3. ถ้าลองปฏิบัติดังกล่าวแล้วไม่ได้ผล แพทย์จะใช้เครื่องมือช่วยเอาออก ซึ่งมีให้เลือกหลายวิธี ขึ้นกับชนิดของสิ่งแปลกปลอมและตำแหน่งที่สิ่งแปลกปลอมติด เช่น ใช้ปากคีบเล็กคีบออก ใช้เครื่องดูดดูดออก ใช้น้ำฉีดล้างออก เป็นต้น (สำหรับเด็กเล็ก ซึ่งมักดิ้นไปมา ทำให้ยากต่อการทำ แพทย์อาจจำเป็นต้องวางยาให้หลับ)
ผลการรักษา เมื่อนำสิ่งแปลกปลอมออกได้ก็มักจะหายเป็นปกติ
ส่วนในรายที่ปล่อยจนมีภาวะแทรกซ้อน แพทย์ก็จะให้การรักษาตามภาวะที่พบ (เช่น ให้ยาปฏิชีวนะสำหรับผู้ที่มีหูอักเสบ ให้การรักษาเยื่อแก้วหูที่ทะลุ) ซึ่งมักจะหายขาดได้
การดูแลตนเอง
ถ้าสงสัยว่ามีสิ่งแปลกปลอมเข้าหู ควรไปพบแพทย์โดยเร็วถ้ามีอาการปวดหูมาก หรือมีเลือดหรือน้ำหนองไหล
ถ้าไม่มีอาการดังกล่าว ควรทำการปฐมพยาบาล ดังนี้
1. ห้ามใช้นิ้วมือ ไม้พันสำลี ไม้แคะหู ก้านไม้ขีดไฟ หรืออุปกรณ์ใด ๆ พยายามเขี่ยเอาสิ่งแปลกปลอมออก เพราะอาจดันให้สิ่งแปลกปลอมลึกเข้าไป ทำให้แก้วหูทะลุหรือเกิดแผลถลอกในช่องหูได้ และทำให้การเอาออกในภายหลังมีความยากมากขึ้น
2. ถ้าสังเกตเห็นสิ่งแปลกปลอมได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งไม่ได้เป็นของแข็ง (เช่น เป็นเศษกระดาษ หรือสำลี) และอยู่ตื้นพอที่จะคีบออกได้ ให้ใช้ไฟส่องสว่างเพื่อให้เห็นชัดเจน ใช้ปากคีบหรือแหนบค่อย ๆ คีบวัตถุนั้นออกมา ถ้ายังมีอาการผิดปกติหรือสงสัยว่ายังมีวัตถุบางส่วนตกค้างอยู่ ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
3. ถ้าสงสัยว่ามีแมลงเข้าหู ให้ใช้น้ำมันพืช (ซึ่งมีอยู่ในห้องครัว) หรือน้ำมันทาตัวเด็ก (เบบี้ออยล์) หยอดใส่เข้าไปในรูหูข้างที่มีอาการ โดยทำตามวิธีเดียวกับการรักษาโดยแพทย์ดังกล่าวข้างต้น (ดูหัวข้อ "การักษาโดยแพทย์" ด้านบน)
วิธีนี้ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีเยื่อแก้วหูทะลุ และไม่ควรใช้กับสิ่งแปลกปลอมที่เป็นวัตถุ เพราะอาจดันให้วัตถุนั้นเข้าไปลึกมากขึ้น และถ้าเป็นวัตถุที่ดูดซับของเหลวได้ (เช่น สำลี กระดาษ เศษพืช เศษอาหาร) ก็อาจทำให้วัตถุพองตัวอุดแน่นรูหูมากขึ้น
4. ถ้าสงสัยมีสิ่งแปลกปลอมที่เป็นวัตถุ ให้เอียงหูข้างที่มีปัญหาไปทางด้านล่าง (หันลงไปทางพื้น) และดึงใบหูไปด้านหลังเพื่อให้รูหูอยู่ในแนวตรง เขย่าศีรษะเบา ๆ ถ้าเป็นสิ่งเล็ก ๆ จะหลุดออกมาได้ หากไม่ได้ผลควรไปพบแพทย์
ไม่ควรใช้ของเหลว (เช่น น้ำ น้ำมันพืช ยาหยอดหู) หยอดหู เพราะนอกจากไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหากมีเยื่อแก้วหูทะลุที่เกิดมาจากสิ่งแปลกปลอม
5. ควรไปพบแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
มีเลือดหรือน้ำหนองไหลออกจากหู หรือมีเยื่อแก้วหูทะลุ ซึ่งไม่ควรหยอดของเหลวเข้าไปในหู
สิ่งแปลกปลอมเป็นถ่านกระดุม ควรไปพบแพทย์ด่วน เพื่อให้แพทย์ช่วยเอาออกมาให้เร็วที่สุด เนื่องจากหากปล่อยไว้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ทำให้หูพิการได้
หลังจากทำการปฐมพยาบาลแล้วไม่เห็นสิ่งแปลกปลอมหลุดออกมา หรือหลังจากเห็นสิ่งแปลกปลอมหลุดออกมาแล้วแต่ยังมีอาการปวดหู หูอื้อ และการได้ยินลดลงอยู่เหมือนเดิม หรือสงสัยว่ายังมีสิ่งแปลกปลอมบางส่วนค้างคาอยู่ในหู
ไม่มั่นใจที่จะทำการแก้ไขด้วยตัวเอง
กังวลหรือสงสัยว่ามีสิ่งแปลกปลอมค้างคาอยู่ในหู แม้ผู้ป่วยจะไม่มีอาการ
การป้องกัน
คอยระมัดระวัง เก็บเศษวัตถุ (รวมทั้งถ่านกระดุม) ทิ้ง ไม่ให้เด็กหยิบได้
ห้ามปรามและคอยเฝ้าระวัง ไม่ให้เด็กเล็กเล่นซนเอาสิ่งแปลกปลอมแหย่ใส่เข้าไปในหู
หลีกเลี่ยงการปั่นหู หรือแคะหูเล่น (นอกไม่มีความจำเป็นแล้วยังอาจเกิดผลเสียได้)
หลีกเลี่ยงการนอนบนพื้นและนอนในที่ที่มีความเสี่ยงต่อการมีแมลงเข้าไปหู
รักษาที่นอนให้สะอาด และคอยระวังไม่ให้มีแมลงในบ้านและในห้องนอน
ไม่ควรนำสัตว์เลี้ยงขึ้นมาบนที่นอน และไม่ควรอุ้มสัตว์เลี้ยงพาดบ่า เพื่อป้องกันไม่ให้เห็บหรือหมัดจากสัตว์เลี้ยงไต่เข้าหู
ข้อแนะนำ
1. เด็กเล็กที่มีสิ่งแปลกปลอมเข้าหูเพราะแอบเล่นซน อาจไม่บอกให้ผู้ปกครองทราบ เพราะกลัวถูกดุหรือลงโทษ ทำให้ไม่ทราบปัญหา และปล่อยปละให้เกิดความล่าช้าในการรักษา จนอาจมีภาวะแทรกซ้อน และมีความยุ่งยากในการรักษาได้ ผู้ปกครองควรสังเกตอาการและพฤติกรรมการเล่นของเด็ก หากเด็กบ่นว่ามีอาการปวดหู หูอื้อ หรือสงสัยมีสิ่งแปลกปลอมเข้าหู (โดยยังไม่มีอาการผิดปกติ) ไม่ควรดุว่าเด็ก ควรพูดคุยถามไถ่ด้วยดี และพาเด็กไปพบแพทย์โดยเร็ว
2. เมื่อพบเด็กมีสิ่งแปลกปลอมเข้าหู ควรตรวจดูให้ถี่ถ้วนว่าอาจมีสิ่งแปลกปลอมในหูอีกข้าง และในจมูกหรือไม่ เพราะบางครั้งเด็กอาจแหย่ใส่วัตถุเข้าหลายที่ก็ได้
3. สำหรับผู้ป่วยที่มีสิ่งแปลกปลอมเข้าหูบางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็กที่ชอบดิ้นไปมา ระหว่างทำการเอาสิ่งแปลกปลอมออกแพทย์อาจจำเป็นต้องวางยาสลบ ซึ่งเพื่อความปลอดภัย ผู้ป่วยต้องงดน้ำและอาหารก่อนเป็นเวลา 8-12 ชั่วโมง ดังนั้น ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเดินทางไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ควรงดน้ำและอาหารตั้งแต่อยู่ที่บ้าน จะได้ไม่ต้องเสียเวลาอยู่รอเตรียมตัวในการวางยาสลบนานไป
ข้อมูลล่าสุด : 5 ก.ย. 2565