ข้อมูลโรค: โรคเชื้อราแคนดิดา (Candidiasis/Moniliasis)โรคเชื้อราแคนดิดา พบได้ในบริเวณซอกผิวหนังที่มีเหงื่ออับชื้น ในช่องปาก และช่องคลอด
โรคนี้พบได้ในคนทุกวัย พบมากในเด็กอ่อน คนอ้วน ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เบาหวาน เอดส์ มะเร็ง ผู้ที่ใช้ยาปฏิชีวนะหรือสเตียรอยด์นาน ๆ
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อแคนดิดาอัลบิแคนส์ (Candida albicans) ซึ่งมีอยู่ประจำถิ่นหรือเป็นปกติวิสัย (normal flora) ในร่างกาย เช่น ช่องปาก ทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ ช่องคลอด ผิวหนัง เมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น กินยาสเตียรอยด์ หรือยารักษามะเร็ง เป็นเบาหวาน เอดส์) หรือมีการเปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นกรดด่าง (เช่น การกินยาปฏิชีวนะ การตั้งครรภ์) ก็จะทำให้เชื้อราชนิดนี้เจริญจนเกิดเป็นโรคขึ้นได้
อาการ
ช่องปาก พบเป็นฝ้าขาวที่ลิ้น หรือตามเยื่อเมือกในช่องปาก (ดู "โรคปากนกกระจอก" เพิ่มเติม)
ช่องคลอด มีอาการตกขาว คัน (ดู "ช่องคลอดอักเสบ" เพิ่มเติม)
ผิวหนัง พบมากบริเวณซอกผิวหนังที่มีเหงื่ออับชื้น เช่น ซอกรักแร้ ขาหนีบ ใต้ราวนม สะดือ ซอกสะโพก ง่ามนิ้ว เป็นต้น ลักษณะเป็นรอยแดงแบบหนังถลอก มีขอบเขตชัดเจน รอบ ๆ จะมีผื่นแดงเล็ก ๆ กระจายตัวอยู่ อาจมีอาการคันร่วมด้วย
โรคเชื้อราแคนดิดาที่พบตามซอกผิวหนังนี้มีชื่อเรียกว่า "Intertriginous candidosis"
เล็บ โรคเชื้อราแคนดิดาที่เล็บ (candida paronychia หรือ onychomycosis) พบในผู้ที่ต้องใช้มือแช่น้ำหรือเปียกน้ำอยู่เสมอ หรือในผู้ป่วยเบาหวาน แรกเริ่มจะมีอาการบวมแดงที่ขอบเล็บ กดเจ็บ พบได้มากกว่า 1 นิ้วพร้อมกัน บางครั้งกดดูจะมีหนองออกจากใต้เล็บ เนื่องจากมีการติดเชื้อจากแบคทีเรียแทรกซ้อน เมื่อปล่อยให้เป็นเรื้อรังเล็บส่วนปลายจะแยกจากเนื้อเยื่อใต้เล็บ (เรียกว่า onycholysis) และบริเวณใต้เล็บจะเห็นเป็นสีขาวหรือเหลือง ต่อมาเล็บจะเสียและเปลี่ยนรูปร่าง มีร่องขวางลักษณะขรุขระที่ตัวเล็บ แต่เล็บไม่ผุหรือกร่อนแบบโรคกลากที่เล็บ
ภาวะแทรกซ้อน
ส่วนใหญ่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง
ผู้ป่วยเอดส์และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น ผู้ป่วยมะเร็งหรือได้เคมีบำบัด) เชื้อราอาจลุกลามจากช่องปากลงไปที่หลอดอาหารและกระเพาะอาหาร รวมทั้งอาจแพร่กระจาย ทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะอื่น ๆ ทั่วร่างกาย เช่น หลอดอาหารอักเสบ กระเพราะอาหารอักเสบ ปอดอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ ตับอักเสบ ม้ามอักเสบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ จอตาอักเสบ เป็นต้น
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ หากไม่แน่ใจหรือรักษาแล้วไม่ได้ผล แพทย์จะทำการส่งต่อเพื่อตรวจเพิ่มเติม โดยการขูดเอาผิวหนังหรือเล็บส่วนนั้นใส่น้ำยาโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ชนิด 10% แล้วนำไปส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ถ้าเป็นที่ซอกผิวหนัง หรือขอบเล็บ ทาด้วยครีมรักษาโรคเชื้อรา (เช่น โคลไตรมาโซล คีโทโคนาโซล) วันละ 2 ครั้ง นาน 2 สัปดาห์ ควรรักษาบริเวณนั้นให้แห้งและสะอาดอยู่เสมอ
2. ถ้าเล็บแยก ควรตัดเล็บส่วนนั้นออก แล้วใช้ยาทาตรงเล็บและเนื้อเยื่อใต้เล็บ
3. ถ้าไม่ได้ผล ให้กินยาฆ่าเชื้อรา (เช่น ไอทราโคนาโซล, ฟลูโคนาโซล) นาน 2-6 สัปดาห์
4. ในรายที่เป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง แพทย์จะตรวจหาสาเหตุ อาจมีภาวะผิดปกติของร่างกายอื่น ๆ (เช่น เอดส์ เบาหวาน)
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีผื่นรอยแดงแบบหนังถลอกบริเวณซอกผิวหนังที่มีเหงื่ออับชื้น (เช่น ซอกรักแร้ ขาหนีบ ใต้ราวนม สะดือ ซอกสะโพก ง่ามนิ้ว เป็นต้น หรือมีอาการบวมแดงที่ขอบเล็บและกดเจ็บ หรือมีอาการตกขาวและคัน ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคเชื้อราแคนดิดา ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา ใช้ยารักษาเชื้อรา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 1 สัปดาห์
ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
1. พยายามทำความสะอาดซอกผิวหนัง อย่าให้มีเหงื่ออับชื้น และหลับอาบน้ำควรซับบริเวณซอกผิวหนังให้แห้ง และใช้แป้งโรย
2. อย่ากินยาปฏิชีวนะติดต่อกันนาน ๆ
3. ถ้าเป็นเบาหวาน ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ข้อแนะนำ
1. โรคเชื้อราแคนดิดาอาจพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยเอดส์ เบาหวาน หรือกินยารักษามะเร็งเป็นประจำ เป็นต้น ถ้าพบผู้ที่เป็นโรคเชื้อราแคนดิดาเรื้อรัง ควรค้นหาสาเหตุและแก้ไข
2. หลีกเลี่ยงการซื้อยาครีมสเตียรอยด์ (แก้แพ้แก้คัน) หรือยาอื่นที่ไม่ใช่ยารักษาเชื้อราที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำมาใช้เอง เนื่องเพราะครีมสเตียรอยด์อาจทำให้โรคลุกลามได้ ส่วนยาน้ำที่ทาแล้วที่รู้สึกแสบ ๆ อาจทำให้ผิวหนังไหม้และอักเสบได้
3.หากสงสัยโรคเชื้อราแคนดิดาที่เล็บ (ขอบเล็บแดง กดเจ็บ เล็บส่วนปลายแยกจากเนื้อเยื่อใต้เล็บ) ลองให้ยารักษาโรคเชื้อราแล้วไม่ได้ผล ควรสงสัยว่าอาจเป็นโรคโซริอาซิส (ดู "โซริอาซิส/โรคสะเก็ดเงิน/โรคเกล็ดเงิน" เพิ่มเติม)